วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โองโมงค์ธรรมศุทธิ

โองโมงค์ธรรมศุทธิจังหวัดตาก

ประวัติความเป็นมา

         อุโมงเนินธรรมสุทธิ (ชาวบ้าน เรียกว่า โองโมงค์) อยู่ในความดูแลของวัดเกาะลาน ตั้งอยู่ที่ตำบลสมอโคน หมู่ 3 อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก นักโบราณคดีฝ่ายวิชาการคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 5 จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากรกล่าวว่ารูปแบบ สถาปัตยกรรม ของโองโมงค์ธรรมศุทธิ เท่าที่ทราบยังไม่พบที่ใดในประเทศไทย ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้จดทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 37 ง ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 หน้า 6 ลักษณะของโองโมงค์ธรรมศุทธิ เป็นสิ่งก่อสร้างทำด้วยอิฐ และฉาบด้วยดินเผามีรูปร่างคล้ายอุโมงค์สูงประมาณ 1.50 เมตร กว้างประมาณ 1.20 เมตร และยาวประมาณ 2.40 เมตร มีช่องทางเข้าออกด้านหน้าด้านเดียว ด้านหลังก่ออิฐทึบมีช่องระบายอากาศ เป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ 1 ช่อง บนหลังคาก่อเป็นรูปทรงใบเสมาเป็นเหลี่ยมและตกแต่งลวดลายประดับไว้ทั้งหมด 25 หลัง ระยะห่างกันประมาณ 0.80 เมตร สร้างในแนวลักษณะของครึ่งวงกลมบนเนินธรรมศุทธิภายในโองโมง มีพื้นที่เหมาะสำหรับบุคคลที่จะอาศัยได้เพียงคนเดียว จากข้อความที่จารึกบนแผ่นกระดานชนวนอ่านโดยพระครูคัมภีร์ธรรมโมภาส เจ้าอาวาสวัดเกาะลาน ซึ่งเป็นตัวเลข และตัวอักษรล้านนา แปลได้ความว่า " ได้สร้างอุทิศให้...(อ่านไม่ออกเนื่องจากตัวหนังสือลบเลือน)...ไว้เมื่อ พ.ศ.2448 " โองโมงค์ธรรมศุทธิแห่งนี้ ได้สร้างในสมัยครูบาสุยะต๋า เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในสมัยนั้น ได้มีการสร้างพระธาตุขนาดเล็ก ภายในบรรจุพระสกุลลำพูน แต่ถูกพวกมิจฉาชีพขโมยไป และถูกไพไหม้เสียหายหมดจึงไม่เหลือซากให้เห็นวัตถุประสงค์ในการสร้างโองโมงค์ธรรมศุทธิ คือ " การเข้าปริวาสกรรม " ประเพณีการเข้าปริวาสกรรมได้เลือนหายไป เนื่องจากถนนได้ตัดผ่าน ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่แห่งนี้ทำให้ไม่มีความสงบพอที่จะปฏิบัติธรรมได้ ปัจจุบันเป็นสถานที่พักชั่วคราวของพระสงฆ์ที่ธุดงค์ผ่านมา และชาวบ้านได้ร่วมใจกันรื้อฟื้นประเพณีเข้าปริวาสกรรม เพื่อให้อยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้ตลอดไป


         ลักษณะของโองโมงค์ธรรมศุทธิ เป็นสิ่งก่อสร้างทำด้วยอิฐ และฉาบด้วยดินเผามีรูปร่างคล้ายอุโมงค์สูงประมาณ 1.50 เมตร กว้างประมาณ 1.20 เมตร และยาวประมาณ 2.40 เมตร มีช่องทางเข้าออกด้านหน้าด้านเดียว ด้านหลังก่ออิฐทึบมีช่องระบายอากาศ เป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ 1 ช่อง บนหลังคาก่อเป็นรูปทรงใบเสมาเป็นเหลี่ยมและตกแต่งลวดลายประดับไว้ทั้งหมด 25 หลัง ระยะห่างกันประมาณ 0.80 เมตร สร้างในแนวลักษณะของครึ่งวงกลมบนเนินธรรมศุทธิภายในโองโมง มีพื้นที่เหมาะสำหรับบุคคลที่จะอาศัยได้เพียงคนเดียว


ที่มาข้อมูล/รูปภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก

เมี่ยงจอมพล

เมี่ยงคำเมืองตาก (เมี่ยงจอมพล)



      เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางสมุนไพรสูงเพราะมีคุณสมบัติในการบำรุงรักษาธาตุทั้ง 4 เพื่อให้สมดุลกัน น้ำอ้อย,มะพร้าว,ถั่วลิสงหรือมะม่วงหิมพานต์และกุ้งแห้งใช้บำรุงรักษาธาตุดิน มะนาวและใบชะพลูใช้บำรุงรักษาธาตุน้ำ หอมและพริกใช้บำรุงรักษาธาตุลม เปลือกของมะนาวและขิงสดบำรุงรักษาธาตุไฟ เมี่ยงคำเมืองตาก หรือเมี่ยงจอมพล ลักษณะเด่นและส่วนประกอบของเมี่ยง คือ มะพร้าวขูด ข้าวตากแห้งทอด ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง แคบหมู มะนาว หัวหอมแดง ขิง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พริกขี้หนูสด เต้าเจี้ยว ข้าวเกรียบชุบน้ำให้อ่อนตัว นำส่วนประกอบทั้งหมดห่อด้วยข้าวเกรียบใส่น้ำเต้าเจี้ยว ห่อพอดีคำ รับประทานเป็นของว่าง

    เครื่องประกอบด้วย
        พริกขี้หนูสด
        ตะไคร้ซอย
        ขิงสดหั่นชิ้นสี่หลี่ยม
        มะนาวหั่นชิ้นสี่เหลี่ยม
        กระเทียมสด
        ถั่วลิสงคั่ว
        มะพร้าวขูดเป็นเส้นยาวๆ
        ข้าวตากคั่ว หรือทอด
        มะเขือพวงดิบ
        กุ้งแห้ง


ที่มาข้อมูล/รูปภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก

ประเพณีตานต๊อด


ประเพณีตานต๊อดจังหวัดตาก

          คำว่า “ตานต๊อด”  ภาษากลาง คือ ทานทอด เป็นคำประสมระหว่างคำว่า ทาน กับ ทอด  ความหมายคือ  “วางของให้”  ก็คือการให้ทาน  ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเอื้ออาทรของชาวบ้านที่มีต่อคนทุกข์ยาก เป็นการทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน ประเพณีตานต๊อดมีต้นกำเนิดมาจากล้านนา  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำบุญประเภทนี้จึงมีแต่เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น และในปัจจุบัน การตานต๊อดไม่ค่อยแพร่หลาย  เด็ก และเยาวชนรุ่นหลังส่วนใหญ่ไม่รู้จักประเพณีตานต๊อดกันแล้ว จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู ประเพณีที่ดีงามดังกล่าวจะสูญหายไปจากสังคมไทย ประเพณีตานต๊อด ยังพอมีให้พบเห็นอยู่บ้างที่ตำบลแม่จะเรา  อำเภอแม่ระมาด  จังหวัดตาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง  และจังหวัดลำพูน ดังนั้น จึงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวล้านนาไว้ แต่จะจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นส่วนเด็กและเยาวชนในตำบลมีน้อยคนนักที่จะรู้จักประเพณีตานต๊อด 


เนื่องจากข้อจำกัดของพิธีตานต๊อดที่เป็นสาเหตุให้เด็กและเยาวชนไม่รู้จักก็คือ พิธีตานต๊อดจะจัดในช่วงกลางคืน เวลาประมาณ  ๒๒.๐๐ –๒๔.๐๐  น. ซึ่งเด็ก ๆ นอนหลับกันหมดแล้ว  จึงมีแต่กลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้นที่ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว   



          
จากคำบอกเล่าของ ลุงหนานต๊ะ (นายจรูญ  สร้อยคำ)   ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่จะเราเล่าว่า  “ตานต๊อด”  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “ตานต๊อดผ้าป่า”  นิยมจัดในฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายนหรือในช่วงเทศกาลลอยกระทง หลังจากที่มีการลอยกระทงไปแล้ว การตานต๊อด จะทำวันใดเดือนใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน ส่วนมากจะถวายแด่พระผู้เฒ่า หรือมีข่าวว่าพระรูปนี้จะสิกขา ลาเพศ เป็นที่น่าเสียดายของบรรดาศรัทธา การตานต๊อดผ้าป่า จึงเป็นการป้องกันการลาศึกของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัย การทำบุญประเภทนี้จะจัดกันอย่างเรียบง่าย รวมกันพร้อมแล้วก็ทำได้เลย 


        พิธีการทำบุญ “ตานต๊อด”หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตานต๊อดผ้าป่า”  เป็นการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์กันเองของชาวบ้าน เรียกว่า ทานมัย  ถือเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ และชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากทำให้ผู้ที่ได้รับตกใจมากเท่าใด ก็ยิ่งได้บุญกุศลมาก และในแต่ละปีจะทำวันใดก็ได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน หรือพระสงฆ์ก็ได้  ประเพณีการตานต๊อด  โดยมีผู้นำในการตานต๊อด อาจจะเป็นผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน พระภิกษุสงฆ์  หรือบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์ต้องการทำบุญโดยมีรายละเอียดและขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้ จัดประชุมชาวบ้าน เพื่อปรึกษาหารือและสำรวจความคิดเห็นว่า บุคคลใดในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน สมควรได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน และนัดหมายเวลา พร้อมจุดนัดพบเพื่อรวมตัวกันไปทำพิธีตานต๊อด ณ บ้านของเพื่อนบ้านที่ต้องการจะช่วยเหลือ


ประเพณีตานต้อด

        การเตรียมงานเริ่มที่บ้านหรือศาลาวัด เพื่อรวบรวมสิ่งของให้ครบทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ  ข้าวสารอาหารแห้ง  ปลากระป๋อง  พริกแห้ง  กะปิ  น้ำปลา เกลือหัวหอม หัวกระเทียม  น้ำมันพืช  ขนม นม  ฯลฯ  และถ้าเป็นของใช้ ได้แก่  สบู่ ยาสีฟัน  ผงซักฟอก  ยาสระผม  มีด พร้า ขวาน  จอบ  เสียม  หม้อข้าว  หม้อแกง  ถ้วย ชาม หม้อน้ำ  หม้อนึ่งข้าว  เสื่อสาด หมอน มุ้ง  รองเท้า   เสื้อผ้า  ผ้าขาวม้า  ผ้าเช็ดตัว  ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธาจะทำบุญ นำสิ่งของทั้งหมดมาแต่งดา และอาจมีต้นเงินเพื่อนำเงินที่ชาวบ้านทำบุญมาเสียบไว้ที่ต้นเงิน จัดทำกันแบบเงียบ ๆ และเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองโดยรู้กันเฉพาะกลุ่มที่จะทำบุญเท่านั้น ใครรู้ก็มาช่วยกัน


        
การตานต๊อด  จะทำในเวลากลางคืน เวลาประมาณ  ๔ - ๕ ทุ่ม  เมื่อชาวบ้านมารวมตัวกันนัดพบหรือจุดที่เตรียมของแล้ว  อาจนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี หรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหนาน” จะเป็นผู้ทำพิธีสวดและพรมน้ำมนต์สิ่งของทั้งหมดที่จะตานต๊อด  เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงช่วยกันถือของที่จะตานต๊อดพากันเดินไปยังบ้านหรือกุฏิอย่างเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงดังแล้วนำเอาของทั้งหมดไปวางไว้บริเวณหน้าบ้าน เช่น  หัวกระไดบ้าน หรือหน้ากุฏิ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จุดเทียน ธูปบูชา ตั้งจิตภาวนา เอาบุญเสร็จแล้ว จึงจุดประทัดชนิดต่าง ๆ ที่มีเสียงดัง เพื่อให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ส่วนคณะศรัทธาเจ้าภาพที่มากันทุกคน ก็พากันหลบซ่อนหมดไม่ให้เห็นตัว คอยแอบดูว่าผู้รับจะออกมารับด้วยวิธีใด เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูออกมาจะเห็นเทียนจุดอยู่หลายเล่มใกล้ ๆ กับสิ่งของที่นำไปให้ก็จะทราบว่ามีคนเอาของมาวางไว้ให้ ถ้าคนเคยบวชเรียนมาแล้วก็จะกล่าวว่า “อิทังเป๋นะปะติถัง”“นี่เป็นของผีหรือของคน”แล้วเข้าไปจุดธูปไหว้พระในบ้าน ทำเช่นนี้ประมาณ ๓  ครั้ง จึงพูดว่า “เห็นทีจะเป็นของคนแน่แล้ว จะรับไว้แล้วนะ ขอให้รับพรด้วย”แล้วก็กล่าวคำให้ศีลให้พรคณะศรัทธาทั้งหมดที่หมอบอยู่ก็พากันยกมือไหว้รับพร เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจในผลบุญที่ได้ทำร่วมกัน

ที่มาข้อมูล/รูปภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า

ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า จังหวัดตาก

ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า (เหนือ) เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ เพื่อเป็นการสักการะองค์พระบรมธาตุ และบวงสรวงขอพรเทวดาในการเริ่มฤดูทำนา ประเพณีดังกล่าวจะกระทำในวันขึ้น 14 และ 15 ค่ำ เดือนเก้าเหนือ ในแต่ละปีวันที่และเดือนไม่ตรงกัน เพราะนับตามปฏิทินล้านนา จะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ของทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนเก้า 

        ผู้คนที่ศรัทธาในองค์พระบรมสารีริกธาตุจะจัดเตรียมเครื่องคาว หวาน ธูป เทียน ดอกไม้ตกแต่งประดับประดาสวยงาม มารวมกันบริเวณเชิงสะพานบุญและเคลื่อนขบวนไปตามสะพานบุญ ขึ้นสู่บันไดนาคผ่านประตูไปยังองค์พระธาตุ บูชาเครื่องสักการะขอพรให้การทำนาลุล่วงไปด้วยดี ฝนตกตามฤดูกาลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนเก้า เหล่าร่างประทับทรงจะจัดชุมนุมเทพยดาบริเวณศาลเจ้าพ่อขุน และเจ้าพ่อคงคำ ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ เพื่อเป็นการบูชาสักการะเหล่าเทพยดาและขอพรให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวนาในการเริ่มเข้าสู่ฤดูทำนา เมื่อเสร็จพิธีบูชาเสร็จสิ้น มีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาองค์พระธาตุ และเทพยดา

        นายสุรินทร์ ติเพียร ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก กล่าวว่า งานประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า (เหนือ) นี้เป็นประเพณีพื้นถิ่นที่มีความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เกิดปีมะเมีย เนื่องจากวัดพระบรมธาตุแห่งนี้ มีลักษณะเป็นพระเจดีย์ใหญ่สีทอง รายล้อมด้วยเจดีย์ย่อย ละม้ายคล้ายกับ พระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฎขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย


การเดินทาง
การเดินทาง จากอำเภอเมืองตากใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1107 สายตาก-บ้านตากไปประมาณ 35 กม. จากนั้น เลี้ยวซ้ายไปสู่ทางหลวงหมายเลข 1175 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร
สอบถามเพิ่มเติมที่ ททท. สำนักงานตาก ทุกวันเวลา 08.30-16.30 น. โทร. 0 5551 4341-3 อีเมลล์ tattak@tat.or.th หรือ www.facebook.com/taktravel

ที่มาข้อมูล : สำนักงาน ททท.จังหวัดตาก